‘ธนุ’ ตั้งเป้า ปีการศึกษา 2566 เพิ่มผู้เรียนทวิภาคี 30% ห้ามน.ศ.ใส่เสื้อช็อปออกวิทยาลัยป้องกันก่อเหตุทะเลาะวิวาท
การศึกษา เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) อยู่ระหว่างกำหนดปฏิทิน และจัดทำ แนวโยบายและแนวปฏิบัติการรับนักเรียน นักศึกษา ประจำปีการศึกษา 2566 เบื้องต้น ตนได้มอบนโยบายไปว่า ในปีการศึกษา 2566 สอศ. จะมีเป้าหมายเพิ่มผู้เรียนระบบทวิภาคี แบ่งเป็น สถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน เดิมมีผู้เรียนระบบทวิภาคี 15% ปีการศึกษา 2566 จะเพิ่มผู้เรียนให้ได้ 25% ส่วนสถานศึกษาอาชีวศึกษารัฐ เดิมมีผู้เรียนระบบทวิภาคี 20% ปีการศึกษา 2566 จะเพิ่มผู้เรียนให้ได้ 30% ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวต่อว่า การเพิ่มผู้เรียนระบบทวิภาคี เป็นหนึ่งใน 7 นโยบายเร่งด่วนที่ตนวางไว้ เพราะพบว่าภาคเอกชนต้องการแรงงานที่จบจากอาชีวะจำนวนมาก จึงสนใจและอยากจะร่วมมือกับ สอศ.เพื่อพัฒนาและจัดการศึกษาระบบทวิภาคี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา (ศธ.) ที่มอบให้ตนจัดการศึกษาร่วมกับภาคเอกชนให้มากขึ้น ซึ่งการเรียนระบบทวิภาคี จะเป็นการสร้างโรงงานในวิทยาลัย และสร้างวิทยาลัยในโรงงาน คือ ฝึกอาชีพในวิทยาลัย และให้เด็กไปฝึกประสบการณ์ในโรงงาน ทำให้เด็กมีอาชีพ มีเงินฝาก มีรายได้ระหว่างเรียน ที่สำคัญคือช่วยตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานด้วย “ปัจจุบันสอศ. ขาดแคลนบุคลากร 1.8 หมื่นอัตรา หากวางแผนเพิ่มผู้เรียนระบบทวิภาคีเพิ่มขึ้น จะทำอย่างไรให้มีบุคลากรเพียงพอกับผู้เรียนที่เพิ่มขึ้น ผมมองว่าระบบทวิภาคี จะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรของ สอศ.อีกทางหนึ่ง เพราะการเรียนทวิภาคี จะเปิดให้ เอกชนเข้ามาช่วยจะสนับสนุนอุปกรณ์ และบุคลากรในการสอนเด็ก นอกจากนี้ ผมได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) แล้ว เพื่อให้ ก.ค.ศ. นำปัญหาดังกล่าวเสนอที่ประชุม ก.ค.ศ. เพื่อขออัตรากำลังเพิ่ม เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรอีกทางหนึ่ง
ขณะนี้พบว่าเด็กเริ่มสนใจ เข้ามาเรียนสายอาชีพเพิ่มมากขึ้น” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว
ว่าที่ร้อยตรีธุ กล่าวอีกว่า ในปีการศึกษา 2566 นอกจากจะเน้นการเรียนระบบทวิภาคีแล้ว จะเน้นหลัก ข่าวการศึกษา สูตรทวิศึกษาในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนตามโครงการพระราชดำริ และโรงเรียนที่มีความพร้อม เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้นักเรียนเหล่านี้ด้วย ขณะนี้ เริ่มประสานกับทาง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อทราบจำนวนเด็กนักเรียนที่จะจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมีความต้องการเรียนต่อสายอาชีพ เพื้นเตรียมความพร้อม และให้คำแนะนำการรับ-ส่งต่อนักเรียนที่มุ่งเข้าสู่สายอาชีพแล้ว “สำหรับการวางมาตรการป้องกันนักเรียน นักศึกษาอาชีวะ ทะเลาะวิวาทกันนั้น เมื่อเร็วๆนี้ ผมได้หารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และได้กำหนดมาตรการร่วมกันว่า ต่อไปนี้อย่าให้มีสัญลักษณ์อะไรที่เป็นเหตุของการเกิดเหตุทะเลาะวิวาท เช่น ไม่ให้นักเรียน นักศึกษาใส่เสื้อช็อปออกจากสถานศึกษา ให้ใส่เสื้อช็อปเฉพาะตอนเรียนปฏิบัติเท่านั้น พร้อมกับประสานตำรวจ และครูร่วมกันเฝ้าระวัง และวางระบบทางกลับบ้านของนักเรียน นักศึกษา ร่วมกัน เพื่อให้ไม่มาเจอกันและก่อเหตุทะเลาะวิวาทระหว่างทางกลับบ้าน ”ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าว